วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติพันท้ายนรสิงห์

                                   ประวัติพันท้ายนรสิงห์
พันท้ายนรสิงห์
 
พันท้ายนรสิงห์ เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองอ่างทอง
เขาเป็นนายทหารผู้จงรักภักดี ในรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๘
หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะที่สำคัญของพันท้ายนรสิงห์
คือ เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต
ช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของเขานั้นคงจะไม่พ้นการได้รับราชการ
ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ และการเป็นนายท้าย ในครั้งที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘
ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ด
ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม
คลองบริเวณนี้มีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่ง
อย่างระมัดระวัง แต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่
หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า
ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี
ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก
ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย เขาจึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตาม
พระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการ
สุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยัน
ขอให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย
เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน
และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป พระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูป
พันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปปั้นดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน
แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารชีวิตตน แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘
จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตาม
พระราชกำหนดกฏหมาย ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์
แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชย
ซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล ผลงานดีเด่นของพันท้ายนรสิงห์ คือ
การที่เขามีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งกฎมลเทียนบาล
ของบ้านเมือง หลังจากที่พันท้ายนรสิงห์ได้ยอมตายเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ทรงพระราชดำริว่าคลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการ
เดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง จึงสมควรให้มีการขุดคลองให้ลัด
ตัดตรง และลึกกว่าเดิม เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า "คลองสนามไชย"
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "คลองมหาชัย" ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิม
ซึ่งเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี
และนี่คือเกียรติประวัติที่ได้รับการยกย่องของพันท้ายนรสิงห์   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น